พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ของ สงครามดอกกุหลาบ

พระเจ้าเฮนรีที่ 6พระนางมาร์กาเรตแห่งอ็องฌู

เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 5 เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1422 พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษพระราชโอรสผู้ขึ้นครองราชย์ต่อมายังคงมีพระชนมายุได้เพียง 9 เดือน หลังจากการเสียชีวิตของจอห์นแห่งแลงแคสเตอร์ ดยุกที่ 1 แห่งเบดฟอร์ด พระปิตุลา ในปี ค.ศ. 1435 แล้วพระองค์ก็ทรงมีแต่ผู้สำเร็จราชการและที่ปรึกษาประจำพระองค์ที่ไม่เป็นที่นิยม นอกจากพระปิตุลาทางพระราชบิดาฮัมฟรีย์ ดยุกแห่งกลอสเตอร์ (Humphrey, Duke of Gloucester) แล้วบุคคลอื่นที่มีชื่อเสียงก็ได้แก่เอ็ดมันด์ โบฟอร์ต ดยุกที่ 1 แห่งซัมเมอร์เซ็ท และวิลเลียม เดอ ลา โพล ดยุกที่ 1 แห่งซัฟโฟล์ก ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีสมรรถภาพในการบริหารรัฐบาล และในการบริหารการทำสงครามร้อยปีกับฝรั่งเศส ภายใต้การปกครองของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ดินแดนเกือบทั้งหมดของอังกฤษในฝรั่งเศสรวมทั้งดินแดนที่ได้มาจากการได้รับชัยชนะในการสงครามของพระราชบิดาก็สูญเสียกลับไปให้กับฝรั่งเศส

ในที่สุดดยุกแห่งซัฟโฟล์กก็สามารถกำจัดฮัมฟรีย์ ดยุกแห่งกลอสเตอร์สำเร็จโดยการจับในข้อหากบฏ ฮัมฟรีย์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1447 ขณะที่รอการพิจารณาคดีในศาล แต่เมื่อสถานะการณ์ในฝรั่งเศสผันผวนไปดยุกแห่งซัฟโฟล์คก็ถูกปลดจากตำแหน่งและถูกฆาตกรรมระหว่างที่พยายามหนีไปหลบภัย ดยุกแห่งซัมเมอร์เซตขึ้นมามีอำนาจแทนในฐานะผู้นำผู้พยายามหาความสันติกับฝรั่งเศส แต่ดยุกแห่งยอร์กผู้ได้รับหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาทหารแห่งฝรั่งเศส (Lieutenant in France) ต่อจากดยุกแห่งเบดฟอร์ดผู้เป็นผู้นำฝ่ายที่ต้องการทำสงครามกับฝรั่งเศสต่อไปวิพากษ์วิจารณ์ราชสำนักและโดยเฉพาะดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทว่าจำกัดเงินทุนและกำลังคนระหว่างที่พยายามต่อสู้อยู่ในฝรั่งเศส

พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แทบจะไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยความคิดเห็นทั่วไปแล้วเป็นพระมหากษัตริย์ที่อ่อนแอไม่มีสมรรถภาพ นอกจากนั้นก็ยังมีพระอาการเสียพระสติเป็นระยะ ๆ ซึ่งอาจจะเป็นอาการที่เป็นกรรมพันธุ์มาจากพระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระอัยกาเมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1450 ก็เป็นที่ตกลงกันว่าไม่ทรงมีความสามารถในการทำหน้าที่เป็นพระพระมหากษัตริย์ได้อีกต่อไป

ในปี ค.ศ. 1450 ก็เกิดการปฏิวัติในเค้นท์ที่เรียกว่าการปฏิวัติของแจ็ก เคด (Jack Cade) ข้อร้องทุกข์ของผู้ปฏิวัติคือการถูกขูดรีดจากข้าราชสำนักบางคนของรัฐบาลและความไม่มีประสิทธิภาพของราชสำนักในการปกป้องสิทธิของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าในระดับใด ผู้ปฏิวัติเข้ามายึดบางส่วนของลอนดอนแต่ถูกประชาชนลอนดอนขับไล่ออกไปเพราะเที่ยวมาปล้นขโมย ฝ่ายก่อการสลายตัวไปหลังจากได้รับคำสัญญาว่าจะไม่ถูกลงโทษรวมทั้งเคด แต่เคดถูกประหารชีวิตต่อมา[1]

สองปีต่อมาริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์กกลับอังกฤษจากที่ไปเป็นผู้บังคับบัญชาทหารแห่งไอร์แลนด์ (Lieutenant of Ireland) และได้นำกำลังมายังลอนดอนเพื่อเรียกร้องให้ปลดดยุกแห่งซัมเมอร์เซ็ทและให้มีการปฏิรูปรัฐบาล ในช่วงนี้มีขุนนางเพียงไม่กี่คนที่สนับสนุนนโยบายที่รุนแรงเช่นว่า ดยุกแห่งยอร์คต้องยอมต่อกองทัพที่มีพลานุภาพเหนือกว่าที่แบล็คฮีธ หลังจากนั้นก็ถูกจับไปคุมขังระหว่างปี ค.ศ. 1452 ถึงปี ค.ศ. 1453[2] แต่ถูกปล่อยตัวหลังจากที่สาบานว่าจะไม่ยกอาวุธต่อต้านฝ่ายราชสำนักอีก

ความขัดแย้งในราชสำนักก็เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในประเทศที่ตระกูลขุนนางต่างก็เกิดความขัดแย้งกันเป็นการส่วนตัวและไม่ยอมรับอำนาจจากทางราชสำนักและอำนาจทางศาลมากขึ้นทุกขณะ กรณีที่มีชื่อเสียงคือความบาดหมางระหว่างเพอร์ซีย์และเนวิลล์ ในหลายกรณีเป็นการต่อสู้ระหว่างขุนนางเก่ากับขุนนางใหม่ที่เพิ่งได้รับอำนาจเพิ่มขึ้นและอิทธิพลขึ้นมาในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ความบาดหมางระหว่างเพอร์ซีย์และเนวิลล์ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างตระกูลเพอร์ซีย์หรือเอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ซึ่งเป็นตระกูลเก่ากับตระกูลเนวิลล์ที่เพิ่งรุ่งเรืองขึ้นมาก็เป็นความขัดแย้งเช่นที่ว่านี้ อีกกรณีหนึ่งก็คือความขัดแย้งระหว่างตระกูลคอร์เทเนย์สและตระกูลบอนวิลล์สในคอร์นวอลล์และเดวอนเชอร์ ปัจจัยหนึ่งของปัญหานี้คือบรรดาทหารจำนวนมากที่กลับมาหลังจากการพ่ายแพ้ในฝรั่งเศส ขุนนางที่มีปัญหาความขัดแย้งก็ใช้ทหารเหล่านี้ในการโจมตี หรือใช้ในการข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามหรือเข้าไปข่มขู่เจ้าหน้าที่หรือผู้พิพากษาในศาล

ความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายขุนนางต่าง ๆ ที่มีกองกำลังส่วนตัว และความฉ้อโกงของราชสำนักของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 เป็นผลให้เกิดความคุกรุ่นที่พร้อมที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง เมื่อมีพระมหากษัตริย์ที่อ่อนแออำนาจจึงตกไปอยู่ในมือของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ในกรณีนี้คือในมือของดยุกแห่งซัมเมอร์เซตและฝ่ายแลงแคสเตอร์ ริชาร์ดและฝ่ายยอร์คที่อยู่ไกลจากอำนาจก็พบว่าอำนาจร่อยหรอลงไปทุกวัน เช่นเดียวกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่อำนาจฝ่ายแลงคาสเตอร์เพิ่มมากขึ้นเมื่อพระเจ้าเฮนรีพระราชทางดินแดนต่าง ๆ ให้แก่ฝ่ายแลงคาสเตอร์

ในปี ค.ศ. 1453 พระเจ้าเฮนรีทรงเสียพระสติอีก ครั้งนี้รุนแรงขนาดที่ไม่ทรงรู้จักเอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์พระราชโอรสของพระองค์เอง สภาผู้สำเร็จราชการที่ได้รับการก่อตั้งนำโดยดยุกแห่งยอร์คผู้เป็นที่นิยมในฐานะเจ้าผู้พิทักษ์ ดยุกแห่งยอร์คจึงเริ่มใช้อำนาจมากขึ้น โดยการสั่งจับดยุกแห่งซัมเมอร์เซตและสนับสนุนตระกูลเนวิลล์ที่รวมทั้งน้องเขยริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 5 แห่งซอลสบรีและลูกชายริชาร์ด เนวิลล์ เอิร์ลที่ 16 แห่งวอริก ในการดำเนินการเป็นปฏิปักษ์ต่อเฮนรี เพอร์ซีย์ เอิร์ลที่ 2 แห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์ ผู้สนับสนุนพระเจ้าเฮนรีต่อไป

พระเจ้าเฮนรีทรงหายจากการเสียพระสติในปี ค.ศ. 1455 และกลับไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ใกล้ชิดกับพระองค์ในราชสำนัก โดยการนำของพระนางมาร์กาเร็ตแห่งอองชู ผู้กลายเป็นผู้นำฝ่ายแลงแคสเตอร์โดยปริยาย ริชาร์ด ดยุกแห่งยอร์กก็ถูกบังคับให้ออกจากราชสำนัก พระนางมาร์กาเร็ตทรงสร้างพันธมิตรขึ้นเพื่อต่อต้านและลดอำนาจของริชาร์ด ความขัดแย้งในที่สุดก็นำไปสู่สงครามในปี ค.ศ. 1455

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม